ซิงค์กับวิตามินซี เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ทั้งคู่ สามารถทานได้ทุกวัน ตามปริมาณที่แนะนำโดยไม่มีอันตราย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
กินซิงค์กับวิตามินซีด้วยกันได้ไหม?
ซิงค์กับวิตามินซีสามารถกินด้วยกันได้ แต่วิตามินซีควรทานพร้อมมื้ออาหาร เพื่อลดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร สำหรับวิตามินซีนั้น มียาและอาหารเสริมอื่นที่ไม่ควรกินพร้อมกับวิตามินซี เช่น วิตามินบี 12, แคลเซียม, ธาตุเหล็ก, ยาลดกรด, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ยาเอสโตรเจน และยาอื่นๆ แนะนำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัว มียาประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อนทาน
ซิงค์กับวิตามินซี กินด้วยกันดียังไง?
มีการทดลองโดยให้รับประทานวิตามินซี 1,000 มิลลิกรัมและซิงค์ 30 มิลลิกรัม พบว่าการทานมินซีและซิงค์ สามารถช่วยบรรเทาอาการและลดระยะเวลาของการติดเชื้อทางเดินหายใจรวมถึงโรคไข้หวัดได้ นอกจากนี้ วิตามินซีและซิงค์ยังช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อโรคปอดบวม โรคมาลาเรีย และโรคอุจจาระร่วง โดยเฉพาะในเด็กในประเทศกำลังพัฒนา
ซิงค์ (ธาตุสังกะสี)
ซิงค์ เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้ ต้องได้รับจากอาหาร ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยในการเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกาย จำเป็นต่อการทำงานของเอนไซม์ โปรตีน และดีเอ็นเอ ส่วนใหญ่ซิงค์จะถูกเก็บไว้ในกล้ามเนื้อและกระดูก
ประโยชน์ของซิงค์
- ร่างกายต้องการซิงค์ เพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ ถ้าได้รับซิงค์ไม่เพียงพอ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคปอดบวมและการติดเชื้ออื่นๆ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ
- ช่วยบำรุงผิว ป้องกันไม่ให้ผิวเปลี่ยนจนดูเหมือนกลากได้
- ถ้าได้ทานซิงค์ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกที่เป็นหวัด จะช่วยลดความรุนแรงและช่วยให้หายเร็วขึ้น
- มีความสำคัญกับเอนไซม์ที่ช่วยในการรับรสและกลิ่น
ปริมาณซิงค์ที่แนะนำต่อวัน
สำหรับคนทั่วไป
ช่วงอายุ | ปริมาณที่แนะนำต่อวัน (RDI) | ปริมาณสูงสุดไม่เกิน (UL) |
---|---|---|
0-6 เดือน | 2.0 mg/วัน | 4 mg/วัน |
7-12 เดือน | 2.5 mg/วัน | 5 mg/วัน |
1-3 ปี | 3 mg/วัน | 7 mg/วัน |
4-8 ปี | 4 mg/วัน | 12 mg/วัน |
9-13 ปี | ผู้ชาย 6 mg/วัน ผู้หญิง 6 mg/วัน | 25 mg/วัน |
14-18 ปี | ผู้ชาย 13 mg/วัน ผู้หญิง 7 mg/วัน | 35 mg/วัน |
19 ปีขึ้นไป | ผู้ชาย 14 mg/วัน ผู้หญิง 8 mg/วัน | 40 mg/วัน |
สำหรับคนท้อง
ช่วงอายุ | ปริมาณที่แนะนำต่อวัน (RDI) | ปริมาณสูงสุดไม่เกิน (UL) |
---|---|---|
14-18 ปี | 10 mg/วัน | 35 mg/วัน |
19-50 ปี | 11 mg/วัน | 40 mg/วัน |
อาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี
อาหาร | สังกะสีต่อ 100 กรัม |
---|---|
ข้าวไรซ์เบอรี่ | 2.42 mg |
เผือก | 0.81 mg |
ใบกระเจี๊ยบ | 0.48 mg |
ใบกะเพราขาว | 0.80 mg |
ต้นอ่อนทานตะวัน | 0.39 mg |
ถั่วพู | 1.36 mg |
ผักบุ้งจีน | 0.35 mg |
ผักหวานป่า | 1.03 mg |
มะเขือพวง | 0.35 mg |
มะระขี้นก | 1.74 mg |
หน่อหวาย | 22.02 mg |
เห็ดหอมสด | 0.79 mg |
ลิ้นจี่ค่อม | 1.38 mg |
ตับไก่ | 2.39 mg |
เนื้อสันในวัว | 5.91 mg |
ปลาโอ | 0.65 mg |
ปูทะเล/ปูดำ | 2.30 mg |
ไข่ไก่ทั้งฟอง | 1.28 mg |
ไข่แดง | 2.44 mg |
กระเทียม | 1.30 mg |
วิตามินซี
วิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่หาได้ในผัก ผลไม้หลากหลายชนิด เช่น ฝรั่ง ส้ม มะนาว บรอกโคลี และถั่วงอก วิตามินซีจำเป็นในการทำงานตามปกติของร่างกายหลายๆอย่าง เช่น ดูแลผิว กระดูก ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กและทองแดง รวมไปถึงเรื่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำต่อวัน
สำหรับคนทั่วไป
ช่วงอายุ | ปริมาณที่แนะนำต่อวัน (RDI) |
---|---|
0-6 เดือน | 25 mg/วัน |
7-12 เดือน | 30 mg/วัน |
1-3 ปี | 25 mg/วัน |
4-8 ปี | 25 mg/วัน |
9-13 ปี | 40 mg/วัน |
14-18 ปี | 40 mg/วัน |
19 ปีขึ้นไป | 45 mg/วัน |
สำหรับคนท้อง
ช่วงอายุ | ปริมาณที่แนะนำต่อวัน (RDI) |
---|---|
14-18 ปี | 55 mg/วัน |
19-50 ปี | 60 mg/วัน |
อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี
อาหาร | แมกนีเซียมต่อ 100 กรัม |
---|---|
ดอกขี้เหล็ก | 484 mg |
ผักคะน้า | 147 mg |
ดอกผักฮ้วน/ฮ้วนหมู | 472 mg |
พริกหวาน | 218 mg |
มะเขือเทศราชินี | 41 mg |
ใบเหลียง | 124 mg |
เงาะโรงเรียน | 76 mg |
ฝรั่งไร้เมล็ด | 151 mg |
มะขามป้อม | 431 mg |
มะปรางสุก | 100 mg |
สตรอเบอรี่ | 66 mg |
ส้มเช้ง | 46 mg |
ส้มโอทองดี | 54 mg |
ใบสะระแหน่ | 88 mg |
รากผักชี | 30 mg |
ข้อมูลอ้างอิง
- https://ods.od.nih.gov/factsheets/Zinc-HealthProfessional/ (Accessed on: 22 May 2023)
- https://www.healthline.com/nutrition/zinc (Accessed on: 22 May 2023)
- https://www.healthdirect.gov.au/zinc (Accessed on: 22 May 2023)
- https://www.healthdirect.gov.au/vitamin-c-and-your-health (Accessed on: 22 May 2023)
- https://www.eatforhealth.gov.au/nutrient-reference-values/nutrients/zinc (Accessed on: 22 May 2023)
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/22429343/ (Accessed on: 22 Apr 2024)