เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาทุพโภชนาการเป็นปัญหาของประเทศ พบได้บ่อยในประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศที่มีรายได้น้อย มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคขาดสารอาหาร และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย ได้แก่ ทารก เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เด็ก วัยรุ่น สตรีมีครรภ์ ผู้ใหญ่ และประชากรผู้สูงอายุ ในบทความนี้จะพูดถึงเกี่ยวกับประเภท ลักษณะอาการและสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคขาดสารอาหาร มีอะไรบ้าง รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาและการป้องกัน
ภาวะทุพโภชนาการคืออะไร?
ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) เป็นสภาวะทางร่างกายที่เกิดจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ได้รับอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย หรือร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ แต่ร่างกายไม่สามารถนำสารอาหารไปใช้ได้ ผู้ที่มีภาวะโภชนาการไม่ดีส่วนใหญ่จะมีร่างกายที่ผอมหรือ อ้วนเกินไป
ภาวะทุพโภชนาการ 4 ประเภท มีอะไรบ้าง
ภาวะทุพโภชนาการ หมายถึง ภาวะโภชนาการต่ำ (Undernutrition) หรือ ภาวะโภชนาการเกิน (Overnutrition) หรือหมายถึงความไม่สมดุลของสารอาหารหลัก (Macronutrient undernutrition) โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน หรือสารอาหารรอง (Micronutrient undernutrition) วิตามินและแร่ธาตุ
ภาวะโภชนาการต่ำ
ภาวะโภชนาการต่ำ คือ การขาดสารอาหาร หากไม่ได้รับประทานอาหารที่เพียงพอ หรือหากร่างกายมีปัญหาในการดูดซึมสารอาหารที่เพียงพอจากอาหารที่ได้รับ การขาดสารอาหารอาจทำให้สูญเสียไขมันและกล้ามเนื้อ ร่างกายผอมแบบแคระแกร็น และน้ำหนักไม่เหมาะสมกับอายุ ผอมเกินไป
ภาวะโภชนาการเกิน
ภาวะโภชนาการเกิน คือ ภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย การบริโภคอาหารที่ให้พลังงานสูง ทำให้มีไขมันสะสมในร่างกาย และออกกำลังกายน้อยลง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จนเกิดโรคอ้วน ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
สารอาหารหลัก
สารอาหารหลัก คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ให้พลังงาน และความร้อน ช่วยให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้ร่างกายมีความเจริญเติบโต รวมไปถึงช่วยสร้างกล้ามเนื้อ ฟื้นฟูกล้ามเนื้อ และซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนที่สึกหรอได้
สารอาหารรอง
สารอาหารรอง คือ วิตามินและแร่ธาตุ(เกลือแร่) เป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงานและร่างกายต้องการในปริมาณที่น้อยแต่ไม่สามารถขาดได้ สารอาหารกลุ่มนี้ถึงไม่ให้พลังงานโดยตรงแต่มีบทบาทที่สำคัญในกระบวนการทำงานต่างๆของร่างกาย เช่น เสริมภูมิต้านทาน เสริมสร้างฟันและกระดูก ช่วยดูดซึมแคลเซียม บำรุงสุขภาพผิว ช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท
อาการ โรคขาดสารอาหาร
โรคขาดสารอาหาร เป็นภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหารและอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา โดยอาจมีอาการขาดสารอาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยตามขา อ่อนเพลียและอ่อนล้า น้ำหนักลดลง ผมเปราะบาง ผมร่วง ผิวซีด ผิวหนังแห้ง ผิวหนังมีลักษณะผิดปกติ มีอาการบวมทั้งตัว อาการบวมที่ท้องเนื่องจากมีน้ำอยู่ในช่องท้อง อัตราการเต้นของหัวใจต่ำ ใจสั่น กระดูกหยุดเจริญเติบโต หรือมีภาวะสมองเสื่อม มีปัญหาด้านการหายใจ ปัญหาทางสายตา และ มีปัญหาทางระบบประสาท โรคขาดสารอาหาร มีอะไรบ้าง?
- โรคอ้วน
- โรคเบาหวาน
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคโลหิตจาง
- โรคเหน็บชา
- โรคกระดูกอ่อน
- โรคปากนกกระจอก
- โรคลักปิดลักเปิด
- โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นตา
- โรคคอพอก
- โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- โรคท้องผูก
- โรคลำไส้อักเสบ
- โรคไทรอยด์
- โรคทางจิต
โรคขาดสารอาหารเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอาหารหลักอย่างโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน หรือแร่ธาตุต่าง ๆ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที อาจมีอาการร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
สาเหตุ โรคขาดสารอาหาร
ภาวะโภชนาการต่ำ เกิดจากการกินสารอาหารไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสภาวะทางการแพทย์บางอย่างที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้
- มีฐานะยากจน ลำบากทางการเงิน หรืออยู่ในถิ่นทุรกันดารขาดแคลนอาหาร
- การเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ หรือความรู้ด้านการทำอาหารหรือโภชนาการค่อนข้างจำกัด
- อยู่คนเดียวหรือปลีกตัวจากสังคมภายนอก
- ภาวะสุขภาพจิต เช่นภาวะซึมเศร้าหรือภาวะสมองเสื่อมที่ส่งผลต่อการรับประทานอาหาร ทำให้ความอยากอาหารลดลง
- ภาวะที่ต้องให้อาหารทางหลอดเลือดดำเป็นเวลานาน
- สภาวะทางการแพทย์ที่ทำให้รับประทานอาหารลำบาก เช่น คลื่นไส้ หรือกลืนลำบาก
- สภาวะทางการแพทย์ที่ทำให้แคลอรีหมดไปเช่น ท้องเสียเรื้อรัง หรือมะเร็ง
- ความต้องการแคลอรี่ มากเป็นพิเศษ เช่น ระหว่างตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือในวัยเด็ก
- ความผิดปกติของการกิน เช่น อะนอเร็กเซีย และบูลิเมีย หรือ โรคคลั่งผอม
- ความผิดปกติของการดูดซึม เช่น ตับอ่อนไม่เพียงพอหรือโรคลำไส้อักเสบ
ภาวะโภชนาการเกิน เกิดจากการบริโภคสารอาหารมากเกินความต้องการ
- ตัวเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย
- พฤติกรรมเนือยนิ่ง กิจกรรมที่แทบไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น นั่งดูโทรทัศน์ เล่นเกม ขับรถ ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต
- ภาวะที่ทำให้ร่างกายทุกส่วนทำงานเชื่องช้า เผาผลาญช้าลง เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมนที่รบกวนสัญญาณความหิวและความอิ่ม
- ความเครียดเรื้อรัง
- ความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า
- การดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด
- การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (อาหารเสริมขาดสารอาหาร) หรืออื่นๆ มากเกินไป
การรักษา โรคขาดสารอาหาร
การรักษาโรคนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละคน สารอาหารที่ร่างกายขาด และความรุนแรงของโรค ซึ่งสามารถใช้เพื่อรักษาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
ภาวะโภชนาการต่ำ ได้รับการรักษาด้วยอาหารเสริมร่วมกับวิตามินอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมอาหารเสริมที่รับประทานเข้าไป และรับประทานอาหารว่างระหว่างมื้ออาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่ให้แคลอรี่จำนวนมากแก่ร่างกาย เพื่อฟื้นฟูทุกสิ่งที่ร่างกายขาดหายไป
ภาวะโภชนาการเกิน จะรักษาด้วยการลดน้ำหนัก การควบคุมอาหารและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การลดน้ำหนักส่วนเกินสามารถช่วยลดความเสี่ยง แค่ไหนเรียกว่าอ้วน? และคำนวณ BMI อย่างไร? ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นโรคเบาหวานและโรคหัวใจ การรักษาลดน้ำหนักอาจรวมถึงโปรแกรมควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
บางครั้งการเปลี่ยนแปลงนั้นก็มากเกินกว่าที่จะรับมือได้ ทางที่ดีควรเริ่มต้นการให้สารอาหารที่เหมาะสมภายใต้การสังเกตทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและจัดการกับภาวะแทรกซ้อน Refeeding syndrome ซึ่งอาจร้ายแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกัน โรคขาดสารอาหาร
ภาวะทุพโภชนาการเป็นปัญหาระดับโลก ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ความยากจนและการขาดความเข้าใจเรื่องโภชนาการเป็นสาเหตุหลัก เราสามารถช่วยควบคุมโรคขาดสารอาหารได้ด้วยการศึกษาทั่วโลกที่ดีขึ้นและการสนับสนุนผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการเข้าถึงน้ำสะอาด อาหารทั้งมวลที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และยารักษาโรค เด็กและผู้สูงอายุที่อาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ และอาจต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดในเรื่องการรับประทานอาหารและสภาวะสุขภาพ
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภาวะทุพโภชนาการคือการรับประทานอาหารที่สมดุลและมีอาหารทั้งมวลที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย หากมีสารอาหารครบถ้วนเพียงพอที่ร่างกายต้องการ จะมีโอกาสน้อยที่จะกินมากเกินไปเพื่อสนองความต้องการเหล่านั้น การขาดสารอาหารรองบางอย่างเป็นเรื่องปกติแม้ว่าจะรับประทานอาหารที่ได้มาตรฐานก็ตาม การตรวจเลือดเป็นวิธีหนึ่งในการดูว่าจะได้ประโยชน์จากจุลธาตุ (ธาตุอาหารเสริม)หรือไม่ ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ สามารถช่วยกำหนดขนาดยาที่ถูกต้องได้
ภาวะทุพโภชนาการอาจส่งผลต่อทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ดังนั้น ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลควรใส่ใจสังเกตอาการผิดปกติและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
ข้อมูลอ้างอิง
- https://my.clevelandclinic.org/health/articles/22464-hormones (Accessed on: 26 May 2023)