โคคิวเทน หรือ โคเอ็นไซม์คิวเท็น (CoQ10) เป็นสารอาหารที่ร่างกายของเราผลิตได้เอง มีอยู่ในแหล่งอาหารตามธรรมชาติหลายชนิด CoQ10 ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่คอยช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหายเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและมีความสำคัญต่อการเผาผลาญ
ประโยชน์ของโคคิวเทน
- อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง
- สามารถลดความดันโลหิตได้เล็กน้อย แม้ว่าจะยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
- อาจช่วยป้องกันหรือรักษาผลข้างเคียง จากการรับประทานยาคอเลสเตอรอลชนิดสแตติน เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อและปัญหาตับ
- อาจชะลอการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์
- อาจช่วยป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน แต่ต้องใช้เวลาหลายเดือนจึงจะได้ผล
- อาจช่วยเพิ่มปริมาณอสุจิและภาวะเจริญพันธุ์
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับ มะเร็ง, เอชไอวี, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, โรคพาร์กินสัน, โรคเหงือก และอาการอื่นๆ อีกมากมาย แต่ยังไม่พบประโยชน์ที่แน่ชัด
บางครั้ง CoQ10 ถูกโฆษณาว่าเป็นอาหารบำรุงกำลัง (energy supplement) แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าจะช่วยบำรุงกำลังในคนทั่วไปได้
โคคิวเทนจากอาหาร
ร่างกายของคนส่วนใหญ่สามารถสร้างโคคิวเทนได้เอง ปริมาณในร่างกายอยู่ระหว่าง 500-1,500 มิลลิกรัม และจะลดลงตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งสามารถได้รับจากอาหารต่างๆ
- เครื่องในสัตว์ เช่น หัวใจไก่ ตับหมู
- ปลาที่มีไขมันสูง เช่น แซลม่อน
- เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว ไก่ หมู
- ถั่วเหลือง, เต้าหู้
- ผัก เช่น บร็อคโคลี่
- ถั่วและธัญพืชต่างๆ
โคคิวเทนกินตอนไหน
CoQ10 ละลายในไขมัน ควรกินพร้อมกับอาหารที่มีไขมันเพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ดีขึ้น ผลการศึกษาบางชิ้นบอกว่าอาจได้ผลดีกว่าถ้ากินตอนกลางคืน1
ผลข้างเคียงของโคคิวเทน
อาการข้างเคียงส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่ได้รุนแรง ได้แก่ อาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ และเสียดท้อง2
ผลข้างเคียงอื่นๆที่พบไม่บ่อย: เวียนหัว ไวต่อแสง ปวดหัว อ่อนเพลีย
คนที่มีโรคประจำตัวต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะกินโคคิวเทน เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายได้
- มีภาวะหัวใจล้มเหลว
- มีปัญหาเกี่ยวกับตับ
- เป็นโรคเบาหวาน
- กำลังตั้งครรภ์
- กำลังให้นมบุตร
- ทานยาไทรอยด์
- กำลังรับเคมีบำบัด