ฉลามเสือ (Tiger shark) ชื่อวิทยาศาสตร์ Galeocerdo cuvier เป็นฉลามดุร้ายที่พบในประเทศไทย อยู่ในทะเลชายฝั่งและน้ำกร่อย
ฉลามเสือชอบอาศัยอยู่เดี่ยวๆ แต่ก็อาจพบเจออยู่เป็นกลุ่มใหญ่ได้ถึง 6 ตัว ออกหากินตอนกลางคืนแถวชายฝั่งและออกนอกชายฝั่งตอนกลางวัน
ลักษณะภายนอก
สีของลำตัวด้านบนมีตั้งแต่สีน้ำตาล มะกอก สีเทาไปจนถึงสีดำ ข้างล่างเป็นสีเทาอ่อน สีเหลืองสกปรก หรือสีขาว มีจมูกทู่และกว้าง มีแถบพาดลำตัวสีเทาเข้ม ลายตามตัวของฉลามเสือจะชัดตอนเด็กและจางลงเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น
ขนาด
นักนักดำน้ำส่วนใหญ่จะพบฉลามเสือที่มีความยาวประมาณ 3.4 – 4.3 เมตร เคยมีการจับฉลามเสือตัวเมียได้ในปี พ.ศ. 2500 มีความยาวถึง 7.4 ม. และหนัก 1,414 กก.
นิสัย
ฉลามเสืออาศัยอยู่ได้ในทะเลหลายประเภท แต่โดยทั่วไปจะชอบน้ำขุ่นแถวชายฝั่ง พบบ่อยบริเวณปากแม่น้ำ ท่าเรือ และปากน้ำอื่นๆ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเหยื่อหลายชนิด ฉลามเสือยังเจอบ่อยในทะเลน้ำตื้นรอบเกาะใหญ่ๆ
ฉลามเสือ จะอพยพที่อยู่ตามฤดู ช่วงหน้าร้อนจะย้ายไปอยู่ในบริเวณที่น้ำอุ่น และกลับไปพื้นที่เขตร้อนในช่วงฤดูหนาว ในช่วงอพยพอาจจะใช้เวลานานในการเลาะระหว่างเกาะไปเรื่อยๆหรือเดินทางไกลได้ในช่วงเวลาสั้นๆ
อาหาร
ฉลามเสือเป็นสัตว์ที่กินไม่เลือก ทั้งกินฉลามที่มีขนาดเล็กกว่า ปลากระเบน เต่าทะเล สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล งูทะเล นกทะเล สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง ปลาหมึกยักษ์และปลาหมึก แมงกะพรุน ซากศพ ขยะ และยางรถยนต์เก่า จนบางครั้งก็มีคนเรียกว่านักเก็บขยะ ของโปรดที่สุดของฉลามเสือคือ เต่า
ฉลามเขตร้อนที่อันตรายที่สุด
มีเหยื่อที่ถูกทำร้ายโดยฉลามเสือทั่วโลกเป็นอันดับสอง รองจากฉลามขาว ถือเป็นฉลามเขตร้อนที่อันตรายที่สุด1 มักจะเป็นข่าวโจมตีคนในออสเตรเลียและฮาวาย
ฉลามเสือเป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็น มันอาจจะว่ายเข้าไปใกล้นักดำน้ำและวนรอบตัวเป็นวงกลมช้าๆ ดูไม่มีพิษภัย แต่ไม่ควรชะล่าใจเพราะอยู่ดีๆมันอาจจะกัดได้อย่างหน้าตาเฉยทั้งที่ดูนิ่งๆ ด้วยฟันที่ใหญ่และพฤติกรรมการกินอาหารแบบไม่เลือก ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้มองมนุษย์เป็นอาหาร แต่ใครจะรู้ว่าอยู่ดีๆมันอาจจะลองแทะเล่นขึ้นมาก็ได้ ฉลามเสือควรถูกมองเป็นสัตว์อันตรายอยู่เสมอ
สถิติการโจมตีมนุษย์ของฉลามเสือ
หน่วยงาน ISAF (International Shark Attack File) ของอเมริกาได้ออกรายงานยืนยันจำนวนมนุษย์ที่ถูกฉลามเสือทำร้ายในปี 2023
ประเภทการโจมตี | จำนวน |
---|---|
การกัดโดยไม่ถูกยั่วยุ | 69 ครั้ง |
การกัดจากการถูกยั่วยุ | 22 ครั้ง |
นอกจากนี้ยังมีการโจมตีอื่นๆ อีก 29 ครั้ง เช่น โจมตีไปที่เรือ, ว่ายน้ำไล่ล่า และอาจจะมีการโจมตีอีกหลายครั้งที่อาจไม่ได้รับรายงาน
ฉลามเสือในไทย
เมื่อ 30-40 ปีก่อน ตอนที่ผมเป็นเด็ก ยังมีนักตกปลาตกฉลามเสือขนาดใหญ่ได้จากในบริเวณเกาะครามอยู่เสมอ
ล่าสุด เมื่อ 3-4 ปีก่อน มีผู้พบฉลามเสือวัยเด็กในบริเวณหินแพ หมู่เกาะสิมิลัน บ่อยๆ ในช่วงเย็นๆ ก่อนพลบค่ำ รวมไปถึงรายงานการพบเห็นฉลามเสือในบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ หลังจากที่เราแทบไม่ได้พบเห็นฉลามเสือในท้องทะเลไทยมานานพอสมควร
นัท สุมนเตมีย์, 2022
ในไทยมีฉลามเสือเช่นกัน สมัยก่อนเรียกว่าตะเพียนทอง เชื่อว่าอาจเป็นตัวกัดฝรั่งและครูแฉล้มที่ศรีราชา เมื่อกว่า 55 ปีก่อน (ผมยังไม่เกิดเลยฮะ)
สมัยเมื่อ 30-40 ปีก่อน ยังมีคนตกฉลามเสือได้เป็นบางครั้งที่ร่องแสมสาร
เมื่อกว่า 10 ปีก่อน เคยมีข่าวเรือประมงจับฉลามเสือได้ ในท้องมีชิ้นส่วนร่างมนุษย์ แต่เป็นเรือจับปลานอกน่านน้ำ
ในไทยมีรายงานว่ามีผู้ดำน้ำเจอบ้าง นานๆ ที (นานมากหลายปีหน) หนนี้แทบเป็นครั้งแรกๆ ที่ผมเห็นภาพถ่ายจากใต้น้ำในเมืองไทย
หนนี้เห็นที่เกาะสุรินทร์ ห่างมา 14 กิโลจากริเชลิว น้ำเย็นเหมือนหนนั้น มีความเป็นไปได้ และฉลามเสือตัวเล็กบางหนก็เข้าแนวปะการังน้ำตื้น snorkelling เห็นจ้ะ
Thon Thamrongnawasawat, 2019
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.sharks.org/tiger-shark-galeocerdo-cuvier (Accessed on: 23 Apr 2024) ↩︎
- https://www.floridamuseum.ufl.edu/shark-attacks/maps/world-interactive/ (Accessed on: 24 Apr 2024) ↩︎