ฉลามหัวบาตร (Bull shark) บางคนอาจเรียกเป็น ฉลามหัวบาก โดยชื่อของมันถ้าแปลตรงตัวจากภาษาอังกฤษก็คือ ฉลามกระทิง มีชื่อวิทยาศาสตรว่า Carcharhinus leucas
ฉลามหัวบาตรเป็นฉลามพันธุ์ล่าเหยื่อ ที่มีความดุร้ายแต่สายตาไม่ดี อาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่งที่ลึกไม่เกิน 30 เมตร ในทะเลเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลกจึงทำให้มีโอกาสพบเจอและทำร้ายคนได้ง่าย
พบทั้งในน้ำทะเลและน้ำจืด
ฉลามหัวบาตรเป็นฉลามที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้าไปอาศัยอยู่ในน้ำจืดได้ดีที่สุด โดยสามารถว่ายไปมาระหว่างน้ำเค็มและน้ำจืด แม่น้ำและทะเลสาบขนาดใหญ่ใกล้ชายฝั่ง และยังขยายพันธุ์ในน้ำจืดได้อีกด้วย
ขนาดของฉลาดหัวบาตร
ฉลามหัวบาตรมีจมูกทู่ ครีบหลังใหญ่ หลังมีสีเทาซีดถึงเข้ม และด้านล่างเป็นสีขาว เมื่อโตเต็มวัยมีความยาวได้ถึง 4 เมตร และหนักเกือบ 316.5 กิโลกรัม จัดเป็นหนึ่งในฉลามที่ใหญ่ที่สุด
- ตัวผู้โตเต็มวัยตอน 14-15 ปี
- ตัวเมียโตเต็มวัยตอน 18 ปี
ฉลามตัวเมียมีแนวโน้มจะผสมพันธุ์ปีเว้นปี ใช้เวลาตั้งท้องแต่ละครั้ง 10-11 เดือน มีลูกได้ครั้งละ 1-13 ตัว มีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน 23 – 32 ปี
อาหารและอันตรายของฉลามหัวบาตร
ฉลามหัวบาตรกินสัตว์น้ำหลากหลายชนิด เช่น ปลา ฉลามขนาดเล็ก นกทะเล และเต่าทะเล ด้วยความที่สายตาไม่ดี ใช้การรับรู้จากประสาทสัมผัสอื่นในการล่า จึงอาจทำให้จู่โจมคนโดยที่เข้าใจผิดว่าเป็นเหยื่อของมัน
ในไทยมีรายงานข่าวนักท่องเที่ยวทั้งเด็กและผู้ใหญ่โดนฉลามหัวบาตรกัด ได้รับบาดเจ็บมาแล้วแทบทุกปี โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าไม่ควรเล่นน้ำในช่วงเช้ามืดหรือช่วงค่ำ ซึ่งเป็นเวลาหาอาหารของฉลาม
ความเสี่ยงในการสูญพันธุ์
ด้วยความดุร้ายและสายตาไม่ดี ฉลามหัวบาตรจึงตกเป็นเป้าหมายในการล่าเพื่อลดจำนวนประชากร (shark culling) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่ชายหาด แต่ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีประสิทธิภาพจริงๆ และนักอนุรักษ์และนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เห็นด้วยกับการกำจัดฉลามหัวบาตรด้วยสาเหตุนี้
ท่ามกลางปัญหาฉลามหลายสายพันธุ์ทั่วโลกเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ปัจจุบันฉลามหัวบาตรยังไม่ถูกจัดอยู่ในฉลามที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่ถ้าหากยังมีการล่าเพื่อกำจัดอย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ฉลามหัวบาตรทั่วโลกอยู่ในขั้นใกล้สูญพันธุ์ (near threatened)
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.britannica.com/animal/bull-shark (Accessed on: 10 April 2024)