คอลลาเจนเป็นโปรตีนที่มีอยู่ในร่างกายของเรามากที่สุด คอลลาเจนมีทั้งหมด 28 ประเภท แต่ละประเภทแตกต่างกันที่โครงสร้างและหน้าที่ โดยมี 5 ประเภทหลักๆ ได้แก่
- คอลลาเจนชนิดที่ 1 เป็นคอลลาเจนที่พบมากที่สุดในร่างกายและพบในผิว, เส้นเอ็น, กระดูก และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอื่นๆ ช่วยสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย
- คอลลาเจนชนิดที่ 2 เป็นส่วนประกอบหลักของกระดูกอ่อน มีความสำคัญในเรื่องโครงสร้างและความยืดหยุ่นของร่างกาย ถ้าหากร่างกายขาดคอลลาเจนชนิดที่ 2 อาจทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม
- คอลลาเจนชนิดที่ 3 พบในผิว หลอดเลือดและอวัยวะต่างๆ
- คอลลาเจนชนิดที่ 4 พบได้ใน basement membrane ซึ่งทำหน้าที่เป็นฐานชั้นบางๆให้เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย
- คอลลาเจนชนิดที่ 5 พบได้ในเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งผิวหนัง เส้นผม และรก
คอลลาเจนบำรุงกระดูกได้จริงไหม?
จากงานวิจัย ให้ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ทานคอลลาเจนก่อนอาหารเช้าต่อเนื่อง พบว่าสามารถช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกอย่างมีนัยสำคัญ
อายุเยอะ คอลลาเจนน้อยลง
ร่างกายจะสร้างคอลลาเจนได้น้อยลง คอลลาเจนจะเสื่อมเร็วขึ้นและมีคุณภาพน้อยลงเมื่อเทียบกับตอนอายุยังน้อย โดยเฉพาะผู้หญิงตั้งแต่วัยทองเป็นต้นไป ร่างกายจะผลิตคอลลาเจนได้น้อยลงอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนในวัยนี้ต้องเจอ โดยสามารถสังเกตุได้ ดังนี้
- เริ่มเห็นริ้วรอยเล็กๆบนใบหน้า
- มีรอยตีนกา
- กล้ามเนื้อลดลง
- มีอาการข้อเสื่อม จากกระดูกอ่อนสึกหรอ
- มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เนื่องจากเยื่อบุทางเดินอาหารบางลง
- มีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด
ตัวกระตุ้นทำลายคอลลาเจน
พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่จะกระตุ้นให้ร่างกายของเราสูญเสียคอลลาเจนเร็วมากขึ้น
- การสูบบุหรี่ จะทำลายทั้งคอลลาเจนและอีลาสตินในชั้นผิว ทำให้เกิดริ้วรอยและแผลหายช้า นิโคตินในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดหดตัวเล็กลง
- ทานอาหารที่มีน้ำตาลเยอะ จะทำลายโปรตีนและทำให้คอลลาเจนอ่อนแอลง
- แสงแดด สามารถลดการผลิตคอลลาเจนและทำให้คอลลาเจนเสื่อมเร็วขึ้น แนะนำให้ทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไป ถึงแม้ผิวจะไม่โดนแดดโดยตรงก็ตาม
- โรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคข้ออีกเสบรูมาตอยด์ โรคผิวหนังอักเสบ สามารถทำลายคอลลาเจนได้เช่นกัน
การทานคอลลาเจนจะช่วยเพิ่มคอลลาเจนในร่างกายได้ไหม
ร่างกายสามารถดูดซึมคอลลาเจนที่ทานไปได้ โดยร่างกายจะย่อยโปรตีนเป็นกรดอะมิโน การทานอาหารที่มีกรดอะมิโนโพรลีน, ไกลซีน, วิตามินซี, สังกะสี ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนได้เยอะขึ้น
- วิตามิน C พบมากในฝรั่ง, ส้ม, สตรอเบอรี่, บรอคโคลี่
- โพรลีน พบมากในเห็ด, กะหล่ำปลี, หน่อไม้ฝรั่ง, ถั่วลิสง, ปลา, ไข่, ข้าวสาลี และเนื้อสัตว์
- ไกลซีน พบมากในเนื้อแดง, หนังไก่, ถั่วลิส และกราโนล่า
- สังกะสี พบมากในหอยนางรม, เนื้อแดง, สัตว์ปีก, เนื้อหมู, ถั่ว, บรอคโคลี, ผักใบเขียว, ธัญพืชและนม
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.sciencedirect.com/book/9780128098479/biochemistry-of-collagens-laminins-and-elastin (Accessed: 25 December 2022)
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3003457/ (Accessed: 25 December 2022)
- https://my.clevelandclinic.org/health/articles/23089-collagen (Accessed: 26 December 2022)
- https://www.osmosis.org/answers/basement-membrane (Accessed: 26 December 2022)