Botox (โบท็อกซ์) หรือ botulinum toxin เป็นการฉีดสารเข้าไปยังจุดต่างๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว เกิดความยกกระชับ ลดริ้วรอย ร่องลึก ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
หลักการทำงานของโบท็อกซ์
โบท็อกซ์จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนที่ฉีดอ่อนแรงชั่วคราว โดยไปบล็อกการทำงานของสารเคมีที่ชื่อว่า acetylcholine ที่คอยทำหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทไปยังกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำให้ริ้วรอย ร่องลึกลดลง นอกจากความงามแล้วโบท็อกยังสามารถใช้รักษาอาการไมเกรน, กล้ามเนื้อกระตุก และลดเหงื่อได้
โบท็อกซ์ควรฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อที่แพทย์จะช่วยประเมินปริมาณที่ใช้ให้อย่างถูกต้องสำหรับแต่ละคน ลดความเสี่ยงของความผิดพลาด โดยโบท็อกซ์เมื่อฉีดไปแล้วจะเริ่มเห็นผลทันทีเล็กน้อย และเห็นผลเต็มที่เมื่อฉีดครบ 2-3 สัปดาห์
ผลลัพธ์ของโบท็อกซ์ อยู่ได้นาน 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับยี่ห้อโบท็อกซ์, บริเวณที่ฉีด และการดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์หลังจากฉีดไปแล้ว โดยกล้ามเนื้อของเราจะค่อยๆแข็งแรงขึ้น ริ้วรอยจะเริ่มกลับมา ควรฉีดซ้ำต่อเนื่องเพื่อให้ผลลัพธ์คงอยู่
อันตรายของการฉีดโบท็อกซ์
โบท็อกซ์แต่ละยี่ห้อ จะมีคำแนะนำเรื่องความปลอดภัยแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่แล้วการฉีดโบท็อกซ์ไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่อาจเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะเมื่อฉีดกับบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ใช้เข็มหรืออุปกรณ์ที่ไม่สะอาด
กรณีที่ห้ามฉีดโบท็อกซ์
- มีการติดเชื้อในจุดที่ต้องการฉีดโบท็อกซ์
- เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือความผิดปกติอื่นๆของกล้ามเนื้อ
- ขวดโบท็อกซ์มีความผิดปกติ, ไม่มั่นใจในการจัดเก็บ
- เคยแพ้โบท็อกซ์บางยี่ห้อมาก่อน (ปรึกษาแพทย์อีกครั้งสำหรับยี่ห้อที่แพ้ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด)
- กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร อาจเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้
กรณีที่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด
- กำลังมีอาการป่วย
- กำลังทานยาบางชนิด
- เพิ่งฉีดโบท็อกซ์มาไม่เกิน 4 เดือน
อาการข้างเคียงของโบท็อกซ์
การโบท็อกซ์นั้นมีความเสี่ยงน้อยมากถ้าฉีดกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญ หลังจากฉีดไปแล้วอาจจะมีอาการดังนี้
- ปวดหัวและมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดในช่วง 24 ชั่วโมงแรก
- รู้สึกตึงๆ มีรอยช้ำ บวม แดง บริเวณจุดที่เข็มจิ้ม
- หน้าตึง แข็ง ไปจนถึงขยับกล้ามเนื้อบนหน้าไม่ได้ ในกรณีที่ใช้ปริมาณที่ไม่ถูกต้อง
- หน้าดูง่วง เพราะเปลือกตาหรือคิ้วหย่อน โดยเฉพาะโบท็อกซ์ที่สามารถกระจายตัวได้ดี
กรณีร้ายแรงของการฉีดโบท็อกซ์คือ มองเห็นไม่ชัดหรือเกิดภาพซ้อนถ้าฉีดบริเวณรอบดวงตา หรือ หายใจลำบากถ้าฉีดบริเวณคอ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากๆ
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.nhs.uk/conditions/cosmetic-procedures/non-surgical-cosmetic-procedures/botox-injections/ (Accessed on: 1 April 2023)
- https://www.dysportusa.com/what-is-dysport (Accessed on: 1 April 2023)
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6316182/ (Accessed on: 1 April 2023)
- https://www.galderma.com/azzalure (Accessed on: 15 May 2023)